เรียบเรียงโดย อาจารย์วิภาวรรณ กลิ่นหอม
จุดเริ่มต้นสำหรับการทำแผนธุรกิจนั้น ควรประกอบไปด้วยการวิเคราะห์เกี่ยวกับปัจจัยต่างๆ ดังต่อไปนี้โดยละเอียด ได้แก่ (1) สินค้าหรือบริการที่จะขาย (2) กลุ่มลูกค้าที่คาดหวัง (3) จุดแข็งและจุดอ่อนของกิจการที่จะทำ (4) นโยบายการตลาด (5) วิธีการหรือกระบวนการในการผลิต และ (6) ตัวเลขทางการเงิน เกี่ยวกับ รายได้ ค่าใช้จ่าย กำไร ขาดทุน จำนวนเงินที่จะลงทุน และกระแสเงินสด ที่คาดการณ์ไว้
แผนธุรกิจที่ดี เมื่ออ่านแล้วควรจะต้องสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้
- การก่อตั้งธุรกิจเป็นรูปร่างชัดเจนขนาดไหน เสร็จสมบูรณ์แล้วหรือยัง
- ธุรกิจนี้น่าลงทุนหรือไม่
- ธุรกิจที่จะทำมีแนวโน้มหรือโอกาสที่จะประสบความสำเร็จตั้งแต่เมื่อแรกตั้งมากน้อยขนาดไหน
- ธุรกิจนี้มีความได้เปรียบหรือความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวมากน้อยเพียงใด
- สินค้าที่จะผลิตที่มีประสิทธิภาพเพียงใด
- สินค้าที่ผลิตสามารถวางตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพเพียงใด
- วิธีการผลิตและการวางตลาดสินค้านั้น มีทางเลือกอื่นๆ ที่ประหยัดได้มากกว่าหรือไม่
- หน้าที่ต่างๆ เช่นการผลิต การจำหน่าย การจัดการทางการเงิน การจัดการคน มีการจัดการที่ดีเหมาะสมเพียงใด
- จำนวนและคุณภาพของพนักงานที่ต้องการมีเพียงพอหรือไม่
ทำไมต้องพิถีพิถันกับการเขียนแผนธุรกิจ
ผู้ที่ริเริ่มจะก่อตั้งธุรกิจใหม่ จำเป็นต้องให้เวลากับการเขียนแผนธุรกิจ เพื่อให้ได้แผนที่ดี ทั้งนี้เพราะ
- แผนที่ดีเป็นตัวชี้ว่าผู้เขียนมีความสามารถ ไม่ใช่เพียงแค่ความคิดความฝันเท่านั้น แผนที่ดีจะทำให้ผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้แน่ใจว่า ผู้ประกอบการใหม่สามารถทำให้ความคิดและความฝันกลายเป็นความจริงได้หรือไม่
- แผนที่ดีชี้ให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นมืออาชีพ ความสมบูรณ์ครบถ้วนของแผนจะเป็นตัวสะท้อนให้เห็นว่า ผู้ประกอบการมีความสามารถและความใส่ใจเพียงใด เพราะถ้าแผนขอกู้ยังไม่มีคุณภาพ ย่อมคาดหวังไม่ได้กับคุณภาพการประกอบการในอนาคต
- แผนที่ดีชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีการเตรียมตัวอย่างดี แผนจะบอกถึงระดับความเตรียมพร้อมในธุรกิจที่จะลงทุน ชี้ให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีความรู้เท่าทันในธุรกิจนั้นๆ ขนาดไหน ยิ่งถ้ามีระดับการเตรียมพร้อมและทางหนีทีไล่มากเท่าไร ยิ่งทำให้ผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ให้กู้รู้สึกเสี่ยงน้อยลงเท่านั้น
- แผนที่ดีเผยให้เห็นว่าผู้ประกอบการมีวิสัยทัศน์ คือเป็นผู้เล็งการณ์ไกล และมีวิธีจะจัดการกับสิ่งท้าทายในอนาคต แผนธุรกิจเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการ SMEs จะต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก ซึ่งแผนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินงานในอนาคตของผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานในองค์กร รวมทั้งเป็นประโยชน์แก่สถาบันการเงินและนักลงทุนภายนอกที่จะเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่กิจการในอนาคตได้ โดยปกติแผนธุรกิจจะบอกให้เราทราบว่าปัจจุบันเราเดินอยู่ ตรงไหน อนาคตจะไปอยู่ที่ใด ด้วยวิธีการอย่างไร
องค์ประกอบที่สำคัญในแผนธุรกิจ SMEs
ส่วนองค์ประกอบสำคัญในแผนธุรกิจนั้นที่จริงแล้วมิได้มีการกำหนดไว้ตายตัว แต่อย่างไรก็
ตามองค์ประกอบหลักที่นักลงทุนมักพิจารณาว่าเป็นสิ่งสำคัญและต้องการที่จะทราบเกี่ยวกับสิ่งเหล่านั้น คือ
- องค์ประกอบที่ 1 บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
ตามแนวความคิดของ ผศ.วิทยา ด่านธำรงกูล กล่าวไว้ว่า บทสรุปสำหรับผู้บริหารนั้นเป็นส่วนที่สรุปใจความสำคัญๆ ของแผนธุรกิจทั้งหมดให้อยู่ในความยาวไม่เกิน 1-2 หน้า ส่วนนี้มีความสำคัญเพราะเป็นส่วนแรกที่ผู้ร่วมลงทุนจะอ่าน และจะต้องตัดสินใจจากส่วนนี้ว่าจะอ่านรายละเอียดในตัวแผนต่อไปหรือไม่ ดังนั้น บทสรุปผู้บริหารจึงต้องชี้ให้เห็นประเด็นสำคัญคือ
1) ชี้ให้เห็นว่ามีโอกาสจริงๆ ที่จะเกิดขึ้นในตลาดสำหรับธุรกิจ SMEs ที่กำลังคิดจะทำ
2) ต้องชี้ให้เห็นว่าสินค้า SMEs หรือบริการที่จะทำนั้น จะสามารถใช้โอกาสในตลาดที่ว่านั้นให้เป็นประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง
บทสรุปผู้บริหารจึงต้องเขียนให้เกิดความน่าเชื่อถือ หนักแน่น และชวนให้ติดตามรายละเอียดที่อยู่ในแผนต่อไป ผู้เขียนแผนพึงระลึกไว้เสมอว่าคุณภาพของบทสรุปผู้บริหารจะสะท้อนถึงคุณภาพของแผนโดยรวม จึงควรให้เวลากับการเขียนแผนส่วนนี้อย่างพิถีพิถัน
ส่วนเนื้อหาในส่วนนี้ควรประกอบไปด้วยสิ่งต่อไปนี้
- อธิบายว่าจะทำธุรกิจอะไรและแนวคิดของธุรกิจนั้นเป็นอย่างไร
- แสดงถึงโอกาสและกลยุทธ์ในการทำธุรกิจนั้น ว่าทำไมธุรกิจนี้น่าสนใจที่จะทำ
- กลุ่มลูกค้าเป้าหมายและการคาดคะเนลูกค้าเป้าหมาย
- ความได้เปรียบเชิงแข่งขันของธุรกิจ
- ความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจและความสามารถในการทำกำไร
- ทีมผู้บริหาร บอกถึงความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์
- ข้อเสนอผลตอบแทน
- องค์ประกอบที่ 2 ประวัติย่อของกิจการ SMEs
ตามแนวความคิดของดร.พิภพ อุดร กล่าวไว้ว่าองค์ประกอบส่วนนี้เป็นการให้ข้อมูลเบื้องต้น เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของการก่อตั้ง ทั้งในด้านรูปแบบการจัดตั้งหรือจดทะเบียน ตลอดจนแนวคิดและที่มาของการเล็งเห็นโอกาสทางการตลาด การคิดค้นและพัฒนาสินค้าและบริการ ที่ต้องการนำเสนอให้กับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย นอกจากนี้ยังควรให้ข้อมูลเกี่ยวกับเป้าหมายระยะที่ต้องการให้เป็นในอนาคต
- องค์ประกอบที่ 3 การวิเคราะห์สถานการณ์
ตามแนวความคิดของดร.พิภพ อุดร กล่าวไว้ว่าขั้นตอนแรกของการจัดทำแผนธุรกิจคือ
การพยายามทำความเข้าใจถึงสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในอนาคตของปัจจัยสำคัญๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสถานการณ์การแข่งขัน ความน่าสนใจโดยรวมของอุตสาหกรรม ตลอดจนความสามารถในการทำกำไร และความพร้อมในด้านต่างๆ ของกิจการ ดังนั้นการวิเคราะห์สถานการณ์จึงเป็นงานอันดับแรกที่สำคัญที่ผู้ทำธุรกิจควรกระทำ เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนดทิศทาง กลยุทธ์ และแผนการดำเนินงานของกิจการ
ส่วนใหญ่แล้วเครื่องมือสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในการวิเคราะห์สถานการณ์นี้คือ SWOT Analysis ได้แก่ การวิเคราะห์ปัจจัยภายใน เพื่อมองหาจุดแข็ง (Strength) และจุดอ่อน (Weaknesses) ของกิจการ และการวิเคราะห์ปัจจัยภายนอก เพื่อมองหาโอกาส (Opportunities) และอุปสรรค (Threats) ของกิจการ
ผลลัพธ์ของการวิเคราะห์สถานการณ์ คือบทวิเคราะห์ความเป็นไปและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของการดำเนินธุรกิจที่เป็นประโยชน์ในการกำหนดกลยุทธ์ด้านต่างๆ ของกิจการต่อไป
- องค์ประกอบที่ 4 วัตถุประสงค์และเป้าหมายทางธุรกิจ
ดร.พิภพ อุดร และ ดร.ครรชิตพล ยศพรไพบูลย์ ได้ให้แนวความคิดไว้ว่า วัตถุประสงค์
และเป้าหมายทางธุรกิจ นั้นคือผลลัพธ์ทางธุรกิจที่กิจการต้องได้รับในช่วงระยะเวลาของแผน ซึ่งโดยทั่วไปเป้าหมายทางธุรกิจอาจเป็นเป้าหมายโดยรวมของกิจการและเป้าหมายเฉพาะด้าน ในแต่ละแผนกหรือลักษณะงาน เช่น เป้าหมายทางการตลาด เป้าหมายทางการเงิน เป้าหมายทางการผลิต เป็นต้น นอกจากนี้เป้าหมายทางธุรกิจอาจแบ่งเป็นเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ตามระยะเวลาอีกด้วย
ทั้งนี้การกำหนดเป้าหมายไม่ได้หมายถึงการมุ่งหวังเพียงผลกำไร หรือผลลัพธ์ในระยะสั้นมากจนเกินไป โดยเฉพาะหากผลในระยะสั้นนั้นอาจจะก่อให้เกิดผลเสียได้ในระยะปานกลางและระยะยาวดังนั้นจะพบว่าลักษณะของเป้าหมายทางธุรกิจที่ดีมี 3 ประการคือ
- มีความเป็นไปได้
- สามารถวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรม
- เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
· องค์ประกอบที่ 5 แผนนำ คือ แผนการตลาด
ดร.พิภพ อุดร และ ดร.ครรชิตพล ยศพรไพบูลย์ ได้ให้แนวความคิดไว้ว่า แผนการตลาด
คือการกำหนดทิศทางและแนวทางในการทุ่มเทความพยายามทางการตลาด ตลอดจนกลไกในการตรวจสอบและประเมินผลกิจกรรมการตลาดไว้ล่วงหน้า โดยใช้ประโยชน์จากความเข้าใจที่ได้รับจากการวิเคราะห์สถานการณ์ในองค์ประกอบที่ 3 มาพิจารณาร่วมกับวัตถุประสงค์และเป้าหมายทาธุรกิจที่กำหนดไว้ในองค์ประกอบที่ 4
โดยทั่วไปเนื้อหาของแผนการตลาดต้องตอบคำถามหลักๆ ให้กับผู้ทำธุรกิจดังต่อไปนี้
– เป้าหมายทางการตลาดที่ต้องทำให้ได้ในระยะเวลาของแผนคือเรื่องอะไรบ้าง
– ใครคือลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทั้งกลุ่มเป้าหมายหลักและกลุ่มเป้าหมายรอง
– จะนำเสนอสินค้าหรือบริการอะไรให้กับกลุ่มเป้าหมาย ในราคาเท่าไร และด้วยวิธีการใด
– จะสร้างและรักษาความพึงพอใจให้กับกลุ่มเป้าหมายเหล่านั้นได้ด้วยวิธีการใดบ้าง
– ถ้าสถานการณ์ไม่เป็นไปตามที่คาดหวังไว้จะปรับตัวหรือแก้ไขอย่างไร
โดยสรุปแล้วส่วนประกอบที่สำคัญของแผนการตลาดจะประกอบด้วยเนื้อหา หลักๆ 4 ส่วน คือ
- เป้าหมายทางการตลาด
- การวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย
- กลยุทธ์และกิจกรรมทางการตลาด ประกอบด้วย กลยุทธ์การตลาดเพื่อความได้เปรียบในการแข่งขัน กลยุทธ์เพื่อการเติบโตทางการตลาด และกลยุทธ์ส่วนประสมทางการตลาด
- การควบคุมและประเมินผลทางการตลาด
- องค์ประกอบที่ 6 แผนเชื่อม คือ แผนการผลิต
ดร.เอกจิตต์ จึงเจริญ ได้กล่าวถึงการจัดทำแผนการผลิตและการปฏิบัติไว้ว่า แผนการผลิตและการปฏิบัติที่ดีจะต้องสะท้อนความสามารถของกิจการในการจัดการกระบวนการผลิตและปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล โดยมุ่งเน้นประเด็นการจัดการไปยังระบบการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรในการผลิตให้เป็นผลผลิตซึ่งสามารถแสดงความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบได้ ตั้งแต่ขั้นตอนการนำเข้าวัตถุดิบ (input) กระบวนการในการแปลงสภาพวัตถุดิบ (process) จนถึง การนำออกผลผลิต (output) และข้อมูลย้อนกลับ (feedback) โดยวัตถุดิบและทรัพยากรนั้นในที่นี้หมายความถึง ปริมาณวัตถุดิบที่ใช้ ชั่วโมงแรงงานที่ทำการผลิต หรือค่าใช้จ่ายรวมของทรัพยากรทุกอย่างที่ใช้ สำหรับกระบวนการในการแปลงสภาพวัตถุดิบ ก็คือกระบวนการในการแปลงสภาพวัตถุดิบและทรัพยากรการผลิตให้เป็นผลผลิต และผลผลิตในที่นี้คือจำนวนหรือมูลค่าของสินค้าและบริการที่ผลิตได้นั่นเอง
ซึ่งในการวางแผนการผลิตและปฏิบัตินั้น ผู้ทำธุรกิจต้องพิจารณาตัดสินใจในประเด็นสำคัญๆต่างๆ ดังต่อไปนี้ โดยพยายามแสดงออกมาให้ได้รายละเอียดชัดเจนมากที่สุด ได้แก่
- คุณภาพ 2. การออกแบบสินค้าและบริการ
- การออกแบบกระบวนการผลิตและปฏิบัติการ 4. การตัดสินใจในเรื่องกำลังการผลิต
- การเลือกสถานที่ตั้ง 6. การออกแบบผังของสถานประกอบการ
- การออกแบบระบบงานและการวางแผนกำลังคน 8. ระบบสินค้าคงคลัง
- การจัดกระบวนการจัดสิ่งวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป 10. กำหนดการผลิตและปฏิบัติการ
11.การดำรงรักษาเครื่องมือและเครื่องจักร
- องค์ประกอบที่ 7 แผนสนับสนุน คือ แผนการจัดการและแผนคน
ผศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ได้กล่าวเกี่ยวกับการจัดทำแผนการจัดการและแผนคนไว้ว่า ผู้จัดทำแผนจะต้องระบุโครงสร้างขององค์การให้ชัดเจน โดยแสดงแผนผังโครงสร้างขององค์การว่าประกอบด้วยหน่วยงานอะไรบ้าง หน่วยงานแต่ละหน่วยมีความรับผิดชอบอะไรบ้าง รวมถึงตำแหน่งบริหารหลักๆ ขององค์การ โครงสร้างของคณะกรรมการและการถือหุ้น การเขียนในส่วนนี้ควรจะทำให้ผู้อ่านเห็นว่าคณะผู้บริหารรวมตัวกันในลักษณะเป็นทีมงานที่ดีในการบริหาร มีความสมดุลในด้านความรู้ ความสามารถที่ครบถ้วน ทั้งด้านเทคนิคและการบริหาร มีความชำนาญและประสบการณ์ในกิจการที่ทำ ซึ่งแผนส่วนนี้ควรประกอบไปด้วยรายละเอียดคือ
- โครงสร้างองค์การ
- ตำแหน่งบริหารหลักๆ ระบุบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละตำแหน่ง
- ผลประโยชน์ตอบแทนแก่ผู้บริหาร
- ผู้ร่วมลงทุน
- คณะกรรมการบริษัท
- องค์ประกอบที่ 8 แผนควบคุม คือ แผนการเงิน
ในการจัดทำแผนธุรกิจนั้นกิจการต้องทราบให้ได้ว่าแผนที่จัดทำขึ้นนั้น จะต้องใช้เงินลงทุน
จำนวนเท่าใด จะหามาได้จากแหล่งใดบ้าง จากแหล่งเงินทุนภายในหรือภายนอก (Financing Activities) จากนั้นก็จะเป็นเรื่องของการตัดสินใจนำเงินไปลงทุน (Investing Activities) ซึ่งแตกต่างกันไปตามประเภทของธุรกิจ กิจกรรมที่สำคัญต่อไปก็คือกิจกรรมดำเนินงาน (Operating Activities) ซึ่งประกอบไปด้วยการผลิต การซื้อ การขาย และการจ่ายค่าใช้จ่ายต่างๆ ซึ่งนักบัญชีจะเป็นผู้นำเสนอผลของกิจกรรมทั้งสาม และสรุปออกมาเป็นงบการเงิน (Financial Statements) ซึ่งเป็นรายงานขั้นสุดท้ายที่จะแสดงให้เห็นถึงข้อมูลทางการเงินของธุรกิจ หรืออาจจะเป็นงบการเงินที่ครอบคลุมการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจในรอบระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง ทั้งนี้เพื่อให้ทราบว่าในรอบระยะเวลาที่ผ่านมานั้น ธุรกิจมีฐานะการเงินอย่างไร กำไรหรือขาดทุน มีการเปลี่ยนแปลงในเงินสดอย่างไรบ้าง เพิ่มขึ้นหรือลดลง และสาเหตุเกิดจากอะไร
งบการเงินจะต้องประกอบไปด้วย งบดุล งบกำไรขาดทุน งบแสดงการเปลี่ยนแปลงในส่วนของเจ้าของ งบกระแสเงินสด และ นโยบายบัญชี ซึ่งโดยทั่วไปแล้วกิจการควรเปิดเผยรายการบัญชีในเรื่องต่อไปนี้ไว้ในงบการเงิน ได้แก่ วิธีการรับรู้รายได้ การตีราคาสินค้าคงเหลือ การตีราคาเงินทุน ค่าเผื่อหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ วิธีการคิดค่าเสื่อมราคาและการตัดบัญชีสินทรัพย์ไม่มีตัวตน การแปลงค่าเงินตราต่างประเทศ และการจัดทำงบการเงินรวม (ข้อมูลจาก รศ.ประนอม โฆวินวิพัฒน์ อ.วิภาดา ตันติประภา และ ผศ. พรชนก รัตนไพจิตร)
- องค์ประกอบที่ 9 แผนการดำเนินงาน
ผศ.วิทยา ด่านดำรงกูล ให้แนวทางไว้ว่า แผนการดำเนินงานก็คือการจัดทำรายละเอียดของกลยุทธ์ดังกล่าว โดยการกำหนดกิจกรรมของกลยุทธ์แต่ละด้านให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน โดยในทางปฏิบัติผู้ประกอบการอาจจะทำแผนการดำเนินงานในลักษณะของตารางที่มีรายละเอียดของเป้าหมาย กลยุทธ์ วิธีการ งบประมาณ และระยะเวลาดำเนินการ โดยจัดทำรายละเอียดเป็นรายเดือน หรือรายสัปดาห์ ตามที่ผู้ประกอบการเห็นสมควร
- องค์ประกอบที่ 10 แผนฉุกเฉิน
เป็นองค์ประกอบสุดท้ายที่ต้องมีการคิดและเขียนไว้ล่วงหน้า เพื่อเป็นการเตรียมแนวทางการดำเนินงานในกรณีที่สถานการณ์ หรือผลลัพธ์จากการดำเนินงานไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ หรือมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น จนเป็นผลกระทบในทางลบกับกิจการ ซึ่งโดยทั่วไปผู้ประกอบการควรอธิบายลักษณะความเสี่ยงทางธุรกิจที่อาจส่งผลให้การดำเนินธุรกิจไม่เป็นไปอย่างราบรื่นตามแผนที่ได้กำหนดไว้
ตัวอย่างของประเด็นความเสี่ยงทางธุรกิจและการเตรียมพร้อมที่ควรระบุไว้ในแผนฉุกเฉินได้แก่กรณีดังต่อไปนี้
- 1. ยอดขายหรือการเก็บเงินจากลูกหนี้ไม่เป็นไปตามคาดหมายจนทำให้เงินสดหมุนเวียนขาดสภาพคล่อง
- ธนาคารลดวงเงินกู้หรือไม่ให้เงินกู้
- คู่แข่งตัดราคาสินค้าหรือจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่องระยะยาว
- มีคู่แข่งรายใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่า ทันสมัยกว่า มีสินค้าครบถ้วนกว่า ราคาถูกกว่า
- สินค้าถูกลอกเลียนแบบและขายในราคาที่ถูกกว่า
- มีปัญหากับหุ้นส่วนจนไม่สามารถร่วมงานกันได้
- ขาดแคลนวัตถุดิบทำให้สินค้าผลิตไม่ทันตามคำสั่งซื้อ
- สินค้าที่ผลิตมากจนเกินไป ทำให้มีสินค้าในมือเหลือมาก
- เกิดการชะงักการเติบโตของทั้งภาคอุตสาหกรรม
- ต้นทุนการผลิตและการจัดการสูงกว่าที่คาดไว้
อย่างไรก็ตามแผนธุรกิจสำหรับธุรกิจแต่ละประเภทอาจมีจุดเน้นที่แตกต่างกันออกไปบ้างตามแต่ลักษณะเฉพาะของธุรกิจในแต่ละกลุ่มอาชีพนั้น ซึ่งผู้ทำธุรกิจต้องพิจารณาปรับใช้ตามความเหมาะสมของธุรกิจของตนเองต่อไป (ข้อมูลจาก www.ismed.or.th สถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)
สรุปความคิดรวบยอด
แผนธุรกิจประกอบด้วย
- สรุปย่อสำหรับผู้บริหารซึ่งเป็นการย่อแผนทั้งหมด พร้อมทั้งข้อเสนอสำคัญสำหรับผู้อ่านแผน
- ลักษณะค้าหรือบริการ
- การวิเคราะห์ตลาด
- การวิเคราะห์ผลตอบแทน
- แผนการตลาด
- การพัฒนาสินค้า
- แผนการผลิต
- ผู้บริหาร
- กำหนดการ
- ความเสี่ยง ปัญหา และสมมติฐาน
- แผนการเงิน
- ข้อเสนอแนะ
- ภาคผนวก
เอกสารอ้างอิง
กฤษฎา เสกตระกูล. พิชิตธุรกิจอย่างมืออาชีพ ชุดบันไดสู่ความมั่งคั่งเล่ม 2. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน). SMEs กับการพัฒนาที่ยั่งยืน. กรุงเทพฯ: ฝ่ายแผนงาน, 2536.
ผุสดี รุมาคม. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม.กรุงเทพฯ: ฟิสิกส์เซ็นเตอร์, 2544.
ภาวรี ฉัตรกุล ณ อยุธยา. เฟรนไชส์. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ เค แอน พี บุ๊ค, 2546.
เรวัต ตันตยานนท์. ก่อร่างสร้างกิจการ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, 2546.
วรภัทร. 99 กฎทองสำหรับ เจ้าของ SMEs. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กู๊ด มอร์นิ่ง, 2546.
สมชาย หิรัญกิตติ และ ศิริวรรณ เสรีรัตน์. การบริหารธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ: DIAMOND IN BUSINESS WORLD, 2542.
อำนาจ ธีระวนิช. การจัดการธุรกิจขนาดย่อม. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, 2546.
กรณีศึกษา
เฉาก๊วยธัญพืช Jelly Bird สร้างธุรกิจจากแผ่นกระดาษ
เดินตามแผน 2 ปี มีแฟรนไชส์ 200 สาขา
—————————————————————–
ความเป็นมา
เฉาก๊วยธัญพืช บริษัท เจลลี่เบิร์ด จำกัด ก่อตั้งโดยอดีตวิศวกรหนุ่ม อรินทร์ ตรีช่อวิทยา ที่ผันตัวเองจากมนุษย์เงินเดือนมาเป็นเจ้าของกิจการ ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 5,000 บาท
ธุรกิจแรกที่อรินทร์จับ คือการเปิดร้านอาหาร แต่ก็ต้องปิดตัวลงเพราะประสบกับวิกฤติทางเศรษฐกิจ
ธุรกิจที่สอง คือการขายเฉาก๊วย
“แรกๆ เห็นเฉาก๊วยขายอยู่ เห็นว่าขายดีก็ซื้อมาขายบ้าง ขายครั้งแรกที่งานบ้านเลขที่ 5 อิมแพคเมืองทองธานี วันแรกๆ ขายได้แค่ 900 บาทก็รู้สึกท้อ เราก็คิดว่าต้องมีอะไรผิดพลาด พอขายวันที่สองก็ลองคิดว่าการขายเฉาก๊วยแบบใส่น้ำเชื่อมอย่างเดียวคงไม่ได้แล้ว อีกอย่างตามท้องตลาดก็มีมาก ก็มีความคิดว่าถ้าเราเอาธัญพืชมาใส่เฉาก๊วยน่าจะสร้างความแตกต่างในตัวของสินค้า ทั้งรูปร่างหน้าตาเปลี่ยนไป มีสีสันน่ารับประทานมากขึ้น ซึ่งผลตอบรับดีมาก ทำให้เราขายดีขึ้น วันที่สามขายได้ 3,000 บาท วันที่สิบเราได้ 9,000 บาท”
เป็นก้าวแรกที่คุณอรินทร์เริ่มมองเห็นโอกาส โดยเฉพาะมีคนสนใจติดต่อขอซื้อแฟรนไชส์เข้ามาหลายราย จากกระแสแฟรนไชส์ที่กำลับบูมเวลานั้น
เขียนแผนธุรกิจ
วางเป้าสู่การเติบโต
เมื่อเห็นโอกาส จะทำอย่างไรจึงจะก้าวต่อไปสู่ธุรกิจแฟรนไชส์ ที่สามารถสร้างรายได้มากกว่าการเป็นเพียงแค่ร้านขายเฉาก๊วยธัญพืช
คุณอรินทร์เริ่มศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับธุรกิจแฟรนไชส์ จากการเข้ารับการอบรมตามสถานที่ต่างๆ โดยเฉพาะการเข้ารับการอบรมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งเป็นอบรมหลักสูตรแฟรนไชส์ และเริ่มรู้จักคำว่าการเขียนแผนธุรกิจอย่างลึกซึ้งเป็นครั้งแรก
การเขียนแผนธุรกิจทำให้คุณอรินทร์ต้องใช้สมองในการขบคิดมากขึ้นเกี่ยวกับธุรกิจเฉาก๊วยธัญพืช โดยการหาข้อมูลแวดล้อมทุกด้านอย่างรัดกุม เพื่อนำกลับมาวิเคราะห์ และ วางแผนการดำเนินงานปิดจุดอ่อนที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดก่อนลงมือทำจริง ทั้งด้านการบริหารจัดการ สินค้า การตลาด การเงิน และการบริการ
คุณอรินท์บอกว่า การเขียนแผนธุรกิจ เป็นการลดความเสี่ยงจากการทำธุรกิจ ไม่ทำให้การทำธุรกิจเดินไปอย่างสเปะสปะ ลองผิดลองถูก เสียเวลา เรียกว่าหากจะก้าวเดินต่อไปต้องตรงเป้า รวดเร็ว และ ฉับไว เพราะหากทำอะไรชักช้า มัวแต่ก้าวเดินไปอย่างผิดๆ ถูกๆ นั่นหมายถึงคู่แข่งขันก็จะแซงหน้าเราไปอย่างรวดเร็ว
ข้อสรุปทางวิชาการ
- การเขียนแผนธุรกิจถือเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จ ใน ธุรกิจเฉาก๊วยธัญพืช Jelly Bird เป็นการลดความเสี่ยงทางธุรกิจ ลดการสูญเสีย และ ลดต้นทุนจากการลองผิดลองถูก ทำให้กิจการใช้เวลาสั้นๆ เพียง 2 ปี สามารถขยายแฟรนไชส์ได้ถึง 200 สาขาทั่วประเทศ